การกู้ร่วมซื้อบ้านเป็นกระบวนการในการกู้ทรัพย์สินกับทางสถาบันการเงินหรือธนาคาร โดยมีผู้กู้มากกว่า 1 คน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้ร่วมกัน โดยที่การกู้ร่วมนั้นถือเป็นกลไกที่ช่วยให้การกู้เงินซื้อบ้านดำเนินไปได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้นและช่วยให้การขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถเพิ่มวงเงินในการขอสินเชื่อเงินกู้รวมไปจนถึงช่วยลดภาระในการชำระหนี้ได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีคู่รักหลาย ๆ คู่ที่เลือกจะขอกู้ร่วมซื้อบ้านร่วมกัน แต่บนโลกนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้ว่าเราและคู่รักของเราอาจจะตกลงที่จะลงหลักปักฐานร่วมกันแล้วทำการลงทุนในการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน แต่หากวันใดวันหนึ่งที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันจนเรากับคู่รักอาจไปกันต่อด้วยไม่ได้ก็อาจทำให้เราต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก เช่น การขายทิ้งทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัยที่เรากู้ร่วมซื้อหรือการพิจารณาวิธีการแก้ไขทางกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งคู่รักหลาย ๆ คู่ที่ต้องเผชิญปัญหาการแยกทางหรือเลิกรากันก็อาจเกิดความสับสนและสงสัยว่าจะทำอย่างไรกับสินเชื่อที่ทำการกู้ร่วมกันเอาไว้ดี แล้วมีอะไรทีจะต้องเตรียมบ้างรวมไปถึงควรเริ่มทำอะไรก่อน วันนี้ทางโครงการแสนสราญจึงจะพาทุกคนมาดูทางออกและวิธีการจัดการปัญหากู้ร่วมซื้อบ้านเมื่อคุณและคู่รักของคุณต้องเลิกกันผ่านบทความนี้กันค่ะ เพื่อหากเมื่อถึงวันที่คุณจำเป็นจะต้องเลิกรากับคนรักของคุณแล้ว คุณจะได้เตรียมตัวจัดการเรื่องสินเชื่อที่กู้ร่วมเอาไว้และสามารถทำการจัดสรรปันส่วนได้อย่างลงตัว
ทางเลือกสำหรับใช้ในการจัดการปัญหาเรื่องคู่รักที่ต้องเลิกราแต่ยังมีสินเชื่อที่กู้ไว้ร่วมกัน
1. ทำการถอนชื่อผู้กู้ร่วมออกจากสินเชื่อกู้บ้าน เมื่อถึงวันเลิกราสิ่งแรกที่ควรทำคือควรทำการตกลงกันในเรื่องของสินเชื่อที่มีชื่อกู้ร่วมกันให้เรียบร้อย โดยเมื่อคู่รักต้องการสิ้นสุดความสัมพันธ์และยกเลิกสัญญากู้ร่วมที่ได้ทำไว้ คู่รักจะต้องทำการจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินที่ได้ซื้อเอาไว้ร่วมกัน โดยทำข้อตกลงเพื่อให้สามารถแบ่งแยกทรัพย์สินได้อย่างเป็นธรรมและมีความลงตัวมากที่สุด หากตกลงว่าใครจะดำเนินการในเรื่องการผ่อนชำระบ้านหลังนั้นต่อไป คู่รักจะต้องติดต่อธนาคารเพื่อขอถอดชื่อผู้กู้ร่วมออกจากสัญญากู้ ซึ่งสำหรับการถอดชื่อผู้กู้ร่วมออกจากสัญญากู้ร่วมซื้อบ้านจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน ซึ่งได้แก่
การกู้ร่วมซื้อบ้านของคู่รักที่จดทะเบียนสมรสแต่ตกลงที่จะเลิกรากัน: ในกรณีที่ทั้งคู่ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันไว้ เมื่อคู่รักตกลงสิ้นสุดความสัมพันธ์และยกเลิกสัญญากู้ร่วม การจดทะเบียนหย่าจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก และเมื่อได้รับใบหย่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งคู่ก็จะต้องนำเอาใบหย่ารวมไปถึงสัญญาจะซื้อจะขายบ้านไปติดต่อที่สถาบันการเงินหรือธนาคารที่ได้ขอกู้ร่วมเอาไว้ โดยคู่รักสามารถขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมออกจากสัญญากู้กับธนาคารได้โดยธนาคารจะทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อและสัญญาใหม่ตามต้องการของผู้กู้
การกู้ร่วมซื้อบ้านของคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่ตกลงที่จะเลิกรากัน: สำหรับกรณีนี้ การถอดชื่อผู้กู้ร่วมออกจากสัญญากู้ร่วมซื้อบ้านจะมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนมาก แต่จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างคู่รักที่เลิกราว่าใครจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ทำการกู้ร่วมเอาไว้ โดยทางสถาบันการเงินหรือธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้และจะดำเนินการต่อไปตามความเหมาะสม โดยจะมีการประเมินและพิจารณาความประสงค์ของผู้กู้อย่างละเอียดรอบคอบ
2. ทำการรีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้เดี่ยวหากระยะกู้เกิน 3 ปี: เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่สถาบันทางการเงินหรือธนาคารไม่อนุมัติให้ทำการถอนชื่อคู่รักที่กู้ร่วมออก เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่าผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้คนเดียวได้ การขอรีไฟแนนซ์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สามารถใช้ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ โดยการทำเรื่องกู้เดี่ยวกับธนาคารแห่งใหม่เพื่อชำระหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้และยังช่วยเปลี่ยนจากการกู้ร่วมเป็นกู้เดี่ยวได้ ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะมีปัจจัยหลักที่ถูกทางสถาบันการเงินหรือธนาคารนำมาพิจารณา เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ดังนี้:
รายได้ของผู้กู้: ธนาคารจะพิจารณารายได้ปัจจุบันของผู้กู้ เพื่อตรวจสอบความสามารถในการชำระเงินกู้ในอนาคต
ยอดดาวน์ที่กู้ซื้อบ้าน: ยอดการดาวน์บ้านเป็นสิ่งหนึ่งที่ธนาคารมักจะนำมาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารและยังช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติเงินกู้ด้วย
ภาระหนี้ต่อเดือนของผู้กู้: ธนาคารจะพิจารณาภาระหนี้ที่ผู้กู้ต้องรับผิดชอบทั้งหมดต่อเดือน เพื่อประเมินว่าผู้กู้สามารถรับผิดชอบค่างวดได้อย่างมั่นคงหรือไม่
ประวัติเครดิต: การตรวจสอบประวัติเครดิตของผู้กู้เป็นส่วนสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของการให้สินเชื่อ โดยการตรวจสอบว่าผู้กู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีหรือไม่
ซึ่งผู้กู้ควรเตรียมเอกสารสำคัญเพื่อใช้ในกระบวนการรีไฟแนนซ์ รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับรายได้และภาระหนี้ และดำเนินการตามคำแนะนำของธนาคารในการเตรียมเอกสารและเตรียมตัวก่อนการยื่นคำขอรีไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการอนุมัติจากธนาคารใหม่
3. ขายบ้านเพื่อตัดปัญหา การขายบ้านเพื่อตัดปัญหาเป็นวิธีที่ดีทั้งคู่รักทั้ง 2 ฝ่าย โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้วว่าไม่ต้องการเก็บบ้านนี้ไว้ การขายบ้านจึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินให้กับทั้งสองฝ่ายได้อย่างเหมาะสม
...