วิธีกู้บ้านง่าย ๆ สำหรับคู่รัก LGBTQ+
ในปัจจุบันสังคมไทยนั้นมีการเปิดกว้างในเรื่องของความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น และแม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่ในปัจจุบันก็มีองค์กรหลาย ๆ องค์กรหันมาให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของมนุษย์ไม่ว่าจะมีเพศ อายุหรือฐานะทางสังคมแบบไหน ซึ่งสถาบันทางการเงินหลายแห่งของประเทศไทยก็ได้มีการเปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศเช่นกัน โดยหลาย ๆ สถาบันทางการเงินก็ได้เปิดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นั้นสามารถทำการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์รวมกันได้ และวันนี้โครงการแสนสราญก็ได้รวบรวมข้อมูลและวิธีกู้บ้านสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่มีความต้องการที่จะยื่นกู้บ้านร่วมกันมาฝากด้วยค่ะ
ซึ่ง “การกู้ร่วม” เป็นการตกลงทำสัญญาเพื่อยื่นกู้สินเชื่อสำหรับสินทรัพย์ก้อนเดียวกัน โดยการกู้ร่วมจะทำให้การยื่นขอสินเชื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสถาบันทางการเงินได้ง่ายขึ้น เพราะทางสถาบันการเงินจะเห็นว่ามีผู้รับผิดชอบสินเชื่อหรือผู้แบกรับหนี้ร่วมกัน ซึ่งทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อจะสามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยก่อนหน้านี้จะมีกำหนดเอาไว้ว่าการกู้ร่วมนั้นจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้ร่วมนั้นมีความสัมพันธ์เป็นคู่สมรส, บุตร บิดา มารดา พี่น้องร่วมสายเลือด หรือเป็นญาติกันเท่านั้น แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ ธนาคารก็อนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถยื่นกู้สินเชื่อร่วมกันได้แล้วเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขก็คือคู่รัก LGBTQ+ จะต้องมีหลักฐานในการยืนยันความสัมพันธ์ของคู่ตนตามที่ทางธนาคารได้กำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งหากคุณและคู่รักของคุณต้องการจะยื่นกู้ร่วมก็สามารถทำตามขั้นตอนการกู้ร่วมสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ได้ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบสถาบันทางการเงินหรือธนาคารที่รองรับการกู้ร่วมสำหรับคู่รัก LGBTQ+
อันดับแรกคุณจะต้องตรวจสอบก่อนว่ามีสถาบันทางการเงินหรือธนาคารไหนบ้างที่รองรับการกู้ร่วมสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคู่รัก LGBTQ+ รวมทั้งตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ในการกู้ร่วมของแต่ละธนาคาร เพื่อให้สามารถยื่นกู้ร่วมได้อย่างราบรื่น ซึ่งธนาคารที่เปิดให้คู่รัก LGBTQ+ ยื่นสามารถกู้ร่วมได้ในปัจจุบันนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี (UOB) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารธนชาต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาข้อเสนอพิเศษของแต่ละสถาบันการเงินเปรียบเทียบกันด้วย
2. เตรียมความพร้อมของสถานะทางการเงินให้เรียบร้อย
ลำดับต่อมาคือการเตรียมความพร้อมของสถานะทางการเงิน เพราะหากคุณมีสถานะทางการเงินที่น่าเชื่อถือประกอบกับการวางแผนการเงินให้พร้อมก็จะส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติการขอสินเชื่อกู้ร่วมนั้นเป็นไปได้งายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสถานะทางด้านการเงินแบบคร่าว ๆ ที่ธนาคารมักจะตรวจสอบนั้น ได้แก่
มีความมั่นคงทางอาชีพการงาน และสถานที่ทำงานของคุณนั้นสามารถตรวจสอบได้
สำหรับพนักงานประจำจะต้องมีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและมีเงินรายได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางสถาบันการเงินหรือธนาคารกำหนด
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ จะต้องมีการจดทะเบียนทางการค้าหรือมีหนังสือรับรองบริษัทซึ่งมีอายุอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป
3. เตรียมเอกสารที่จะใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันความสัมพันธ์ว่าเป็นคู่รักให้พร้อม
เนื่องจากในประเทศไทยกฎหมายเรื่องการสมรสกันระหว่าคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นยังไม่ถูกอนุมัติเวลาที่จะยื่นกู้ร่วมจึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทดแทนทะเบียนสมรสได้ โดยสำหรับคู่รัก LGBTQ+ สามารถใช้เอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือแสดงการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือตามที่ธนาคารกำหนดได้ เช่น ทะเบียนบ้านที่มีชื่ออยู่ร่วมกันกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน, รูปภาพที่ยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริง ๆ เช่น รูปงานแต่งงาน, เอกสารในการกู้ซื้อทรัพย์สินอื่นร่วมกัน (หากมี) หรือ เอกสารอื่น ๆ ที่ยืนยันว่าทำธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น โดยนอกจากนี้ หากคู่รัก LGBTQ+ ต้องการยื่นกู้ร่วมก็ยังต้องมีการเซ็นในเอกสารสำหรับนื่นกู้ร่วมด้วยว่าผู้กู้ร่วมนั้นมีความสัมพันธ์เป็นคู่รักกับผู้กู้หลัก
4. เตรียมเอกสารอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในการขอกู้สินเชื่อบ้านให้ครบ
เมื่อเตรียมเอกสารที่จะใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันความสัมพันธ์ว่าเป็นคู่รักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมให้ครบก็คือ เอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการขอกู้สินเชื่อบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เอกสารส่วนตัวอย่างสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล, เอกสารทางการเงิน เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน และเอกสารอื่น ๆ ที่ทางธนาคารร้องขอ
5. วางแผนสำรองสำหรับการยื่นกู้เอาไว้ด้วย
สถาบันการเงินจะเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถยิ่นกู้สินเชื่อบ้านร่วมกันได้ แต่ก็มีขั้นตอนและเอกสารค่อนข้างมากที่จะต้องเตรียมพร้อม ดังนั้น การวางแผนสำรองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเช่นกัน เช่น การวางแผนโดยศึกษาข้อมูลเรื่องรูปแบบการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME ที่ให้กลุ่มคู่รัก LGBRQ+ สามารถยื่นขอสินเชื่อ เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์สำหรับใช้เป็นสถานประกอบกิจการได้ เป็นต้น
สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่มีความสนใจที่จะยื่นกู้ร่วม ก็สามารถนำเอาข้อมูลที่เราได้รวบรวมมาไว้ในบทความนี้ไปประกอบการตัดสินใจและวางแผนก่อนกู้ร่วมกันได้เลยนะคะ
...